วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ทำอย่างไรให้คนรัก (สังคหวัตถุ 4)

1. การให้ (ทานวัตถุ)
ผู้ให้ จะเป็นผู้ได้ตลอดเวลา ให้มองกว้างๆ มองไกลๆ จะพบว่า เมื่อเราให้สิ่งใดไป สิ่งนั้นจะมีมูลค่ามากกว่าที่เราซื้อมา เพราะเมื่อเราเป็นผู้ให้ นอกจากวัตถุที่ให้ไปแล้ว เรายังใส่น้ำใจเข้าไปอีกด้วย ซึ่งนับเป็นมูลค่ามหาศาล
การให้อภัย ปรับที่ใจเรา ก็ถือเป็นการให้ คิดดูว่าแม้กระทั้งตัวเราเอง ตัวเรายังไม่ชอบใจตัวเองทั้งหมดเลย บางครั้งเรายังนึกว่าหรือโทษตัวเองในบางครั้งเลย แล้วคนอื่นจะทำให้เราพอใจทุกเรื่องได้อย่างไร และอย่าแก้ปัญหาด้วยกำลัง
จะให้อภัยได้ จะต้องรู้จักเหตุและผลว่า ทุกคนมีทั้งข้อดีข้อเสีย และแต่ละคนผ่านประสบการณ์มาหลายอย่าง
คนยิ้มแย้ม แจ่มใส คนไปที่ไหน ก็มีแต่คนรัก

2. พูดจาอ่อนหวาน (ปิยะวาจา)
ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ใช้เพียงคำพูดที่กลั่นกรองมาจากใจ ใครรู้จักปรับให้ดี พูดให้ตรงใจพูดรับ
คำพูดมี 2 แบบ
· คำหยาบ คือ คำพูดที่กดใจของผู้ฟังต่ำลง
o คำด่า
o คำประชด (พูดยกนอเกินเหตุ, พูดกระทบจิตใจ)
o คำแดกดัน (พูดเสียดสี)
· คำพูดที่ช่วยยกใจ ผู้ฟังให้สูงขึ้น
ใครที่สามารถพูด และยกใจผู้ฟังให้สูงขึ้นได้ ก็จะเป็นที่รักของ เพราะทุกคนต้องการการให้เกียรติ์ รู้สึกว่าได้รับการ ยกย่อง ยอมรับ “การจะมัดของ เราต้องใช้ของอ่อนมัด ของแข็งมัดไม่อยู่ เช่นเดียวกัน จะมัดใจคนได้ ก็ต้องใช้คำพูดที่อ่อนโยน”
เมื่อเราพูดคำพูดที่ช่วยยกใจคนอื่น มันก็จะช่วยยกใจตัวเองไปด้วย ผิวพรรณดี มีน้ำมีนวล แต่ใครที่พูดกดใจผู้อื่นให้ต่ำลง ตัวของเขาเองก็จะมีใจต่ำลงเช่นกัน

3. ทำตนให้เป็นประโยชน์ (อัตถจริยา)
แบ่ง 2 ประเด็นคือ
· ตัวเราเองต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์เสียก่อน เพราะของที่มีประโยชน์ย่อมเป็นที่รักของผู้อื่น
จะฝึกได้ก็ต้อง “มีสติ กำกับกาย กำกับใจ และทำอะไรให้ทำให้เต็มที่ ให้สุดความสามารถ” และเมื่อเราทำอะไรสุดความสามารถแล้ว เมื่อทำครั้งต่อไป มันจะพัฒนาไปได้
· เมื่อเราเป็นคนมีประโยชน์แล้ว ก็ต้องเอาความสามารถสร้างประโยชน์ให้คนอื่นด้วย
หากเราสร้างประโยชน์เพื่อผู้อื่นได้ ก็จะเป็นที่รักของผู้อื่น

4. เป็นผู้วางตัวสมกับฐานะและบทบาทของตัวเอง (สมานัณตตา)
รู้บทบาทหน้าที่ ทำให้สมกับหน้าที่ของตนเอง ทำอะไรให้พอดีๆ จะใส่เสื้อผ้าต้องพอดีตัว จะทำอะไรก็ต้องพอดีตัวเช่นกัน อย่ายกตัวเอง เมื่อเราวางตัวดี มนุษยสัมพันธ์ก็จะดียิ่งขึ้น
ต้องเข้าใจว่าคนแต่ละคนจะมีลักษณะพิเศษของตัวเอง มีความชอบที่แตกต่างกัน เราต้องเข้าใจเขา และปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับจริตของเขา
และต้องพิจารณาด้วยว่าตัวเขาเอง ต้องการให้เราอยู่ในฐานะไหน? เช่นหากคนที่คุณรู้จักเป็นครู เขามีนิสัยชอบสอน เราก็ต้องฟังเขาบ้าง วางตัวให้รู้ว่าเขาต้องารให้เราเป็นอะไร แล้วจะครองใจผู้อื่นได้ ไม่ใช้คิดว่าเราจะทำอะไรก็ได้
เราคือใครฐานะบทบาทแค่ไหน เขาคือใครมีฐานะบทบาทแค่ไหน วางตัวให้เหมาะสม

ทุกความคิดเห็น ถือเป็นขุมทรัพย์ที่มีค่ามหาศาลนะครับ มีข้อมูลเพิ่มเติมข้อเสนอแนะอะไรก็ ร่วมแบ่งปันกันนะครับ

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ทำไมคนมีความรู้ ถึงถูกหลอกง่าย....

ทำไมคนมีความรู้ ถึงถูกหลอกง่าย....

หากดูเผินๆ คนที่มีความรู้น่าจะหลอกยาก คนความรู้น้อยน่าจะหลอกง่าย นี้นา

คนมีความรู้ถูกหลอกง่ายจริงหรือ?

ต้องมองความจริงในบางมุม เพราะการตัดสินใจของคนเรา มาจาก 2 อย่าง คือ
1.ตัดสินใจจากความคิด จากหลักตรรกะ การตรองเหตุตรองผล
2.ตัดสินใจจากสิ่งที่ตนสัมผัสได้ จากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชีวิต

คนมีความรู้จะมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ จากหลักตรรกะ มากกว่าคนมีความรู้น้อย

การตรองเหตุผลก็อยู่ที่ว่ามีใครชี้นำหรือเปล่า ถ้ามีผู้ชี้นำที่ให้เหตุผลแบบไม่รอบด้าน ให้เพียงบางแง่มุม แต่เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้เหตุผลเหมือนนักโฆษณาชวนเชื่อ คือ ให้เหตุผลบางด้าน เพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกดี รู้สึกมีเหตุมีผล ก็จะสามารถคล้อยตามได้ แต่ถ้าเป็นเหตุผลที่ไม่รอบด้านก็อาจกลายเป็นถูกเขาจูงไป

สมมุติมีนักโฆษณาชวนเชื่อที่มีวาทศิลป์ดีมาก มาพูดวิจารณ์นางงามจักรวาลว่า นางงานคนนี้มีติ่งหูไม่สวยเลย เรียวๆ ไม่อิ่ม แล้ววิพากษ์วิจารณ์ตรงติ่งหูไปเรื่อยๆ จนความงามอย่างอื่นลืมหมด คนฟัง ฟังไปๆ รู้สึกว่า นางงามคนนี้เป็นคนที่อัปลักษณ์ที่สุดในโลกเลย
ขณะเดียวกัน เอาคนที่หน้าตาธรรมดามากๆ มาชื่นชมบางจุดว่า ...ดูซิ ผิวตรงนี้เรียบเนียนมาก สุดยอด จนกระทั่งคนฟังค่อยๆ เคลิ้ม เริ่มรู้สึกว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นคนที่สวยที่สุด ถ้าคนที่มีวาทศิลป์รู้จักการใช้เหตุผลเป็นเลิศ แต่เป็นเพียงบางแง่มุม ชักจูงจนผู้ฟังคล้อยตามได้ เขาก็สามารถที่จะกล่อมให้คนฟังเห็นว่า ผู้หญิงที่หน้าตาไม่ค่อยดีกลายเป็นคนสวยกว่านางงามจักรวาลได้ ด้วยการให้เหตุผลเพียงแค่บางแง่มุม

ถ้าในชีวิตจริง เราจะต้องเจอคนอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ เราจะทำอย่างไร?

มีอย่างเดียวคือ อย่าลืมดูภาพรวม อย่าไปลงแต่รายละเอียดอย่างเดียว เราถึงจะพบความจริง จะตัดสินใจเรื่องอะไรก็ต้องดูว่าหน้าที่หลักคืออะไร โดยภาพรวมข้อดีข้อเสียทั้งหมดเป็นอย่างไร โดยไม่คาดหวังให้ทุกคนต้องงามพร้อมหมด ไม่ยึดเอาแค่มุมใดมุมหนึ่งเป็นตัวตัดสิน อย่างดูตันไม้ ต้องดูให้เห็นทั้งต้น ไม่ใช่ดูแค่ใบ ดูแค่ดอก ดูแค่กิ่งเสี้ยวใดเสี้ยวหนึ่ง แต่ต้องดูให้เห็นภาพรวม เราจึงจะตัดสินได้อย่างรอบด้าน

ในแง่ทางเทคนิค เรื่องทางวิชาการต่างๆ คนมีความรู้มากต้องมีความรู้ที่ดีกว่าคนมีความรู้น้อยเป็นธรรมดา แต่ในบางแง่มุม คนมีความรู้น้อยกลับถูกหลอกได้ยากกว่า เพราะคนมีความรู้มากตัดสินอะไรด้วยหลักตรรกะ พอฟังแล้วมีเหตุผลก็เชื่อตามเขาไป เจอคนที่เป็นนักโฆษณาชวนเชื่อพูดเก่งๆ ก็อาจคล้อยตามเขาได้ แต่คนความรู้น้อย เจาจะตัดสินเรื่องที่ใกล้ตัวเขา ที่มีผลต่อตัวเขาด้วยความจริง ไม่ใช่ด้วยเหตุผล

โดยสรุปคือ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนมีความรู้มาก หรือความรู้น้อยก็ตาม คุณก็อาจเป็นผู้ที่โดนหลอกได้ง่ายๆ หากคุณไม่ได้มองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจากการ “มองภาพรวม”

สรุปและคัดย่อจากบทความ ทันโลก ทันธรรม โดย พระมหา ดร. สมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D., Ph.D.) วารสารอยู่ในบุญ