วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สามัคคีกถา

การจะพูด หรือทำอะไร ให้ใช้หลักธรรมเป็นกฎเกณฑ์ อย่าเอาความคิดของตัวเองมาอ้าง หลวงพ่อทัตตชีโว เคยพูดเอาไว้ว่า “อย่าเอาความคิดของตัวเองมาอ้าง ถ้าจะเป็นนักพูดที่ดี” เพราะนักคิดมีเยอะ ต่างคนต่างก็คิดเอาตามใจของตนเอง เป็นความคิดที่เคลือบแคลงไปด้วยกิเลส ควรยึดเอาตามในพระไตรปิฎก เพราะทุกเรื่องจะเป็นเรื่องจริง

การจะทำอะไรก็ตามจำเป็นจะต้องมีสติ และเหตุผล เพื่อจะได้เป็นภูมิคุ้มกันของหมู่คณะ ไม่ให้เกิดความแตกแยก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงมูลเหตุแห่งการวิวาท ความแตกแยกสามัคคีในหมู่คณะมี ๖ ประการใหญ่ ( ที. ปาฏิ. ๑๑/๓๑๘) มีความย่อว่า
๑. เป็นผู้มักโกรธ มักผูกโกรธ
๒. เป็นคนลบหลู่ ตีตัวเสมอ ไม่รู้จักบทบาท หน้าที่ของตนเอง
๓. เป็นผู้มักริษยา มีความตระหนี่
๔. เป็นผู้โอ้อวด มีมารยา
๕. เป็นผู้มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิดธรรมนองคลองธรรม หรือ มีมิจฉาทิฐินั้นเอง
๖. เป็นผู้ยึดมั่นในความเห็นของตน คือ ไม่ยืนอยู่บนหลักธรรม ไม่มั่นคงในหลักธรรม มักถือรั้น คลายได้ยาก

นอกจากนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสหลักธรรมเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีปรองดอง สมานฉันท์และความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวของหมู่คณะ โดยเป็นเครื่องทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม ได้เป็นที่รักที่เคารพของผู้อื่น เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กันและกัน ไม่วิวาทบาทหมางกันชื่อว่า “สาราณิยธรรม ๖” (ที. ปาฏิ. ๑๑/๓๑๗) ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสสอนพระภิกษุทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
๑. ประพฤติ “กายกรรม” ประกอบด้วยเมตตา
๒. ประพฤติ “วจีกรรม” ประกอบด้วยเมตตา
๓. ประพฤติ “มโนกรรม” ประกอบด้วยเมตตา
๔. มีอะไรก็แบ่งปันกันและกัน
๕. มีศีลเสมอกัน
๖. มีทิฐิเสมอกัน

เพราะงานพระพุทธศาสนาขยายไปเร็วมาก จนบางคนตั้งตัวไม่ทัน เป้าหมายการขยายงาน 208 ประเทศ งานในประเทศนี้ก็ดูเล็กไปเลย แต่แม้งานจะดูเล็ก แต่ก็จะยิ่งพลาดไม่ได้ ถ้าเราไม่มีความสามัคคีซึ่งกันและกัน งานก็คงไม่สำเร็จ
งานต่างๆจะสำเร็จได้ด้วยดีนั้น จะต้องมี สังคหวัตถุ ๔ (ทาน, ปิยะวาจา, อตัถจริยา, สมานัตตตา) เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ คือ ต้องเป็นผู้ให้ พูดกันเพราะๆ ทำตัวให้เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน อย่างเสมอต้นเสมอปลาย นั้นเอง
เวลามองคนให้มองตัวเองให้แตก เอาธรรมเป็นกฎเกณฑ์ดู จริตมี ๖ จริต มูลเหตุแห่งความแตกแยกมีอยู่ เราต้องรู้เท่าทันว่าเราอยู่กลุ่มไหน

“มีก้อนหินขนาดใหญ่ก้อนหนึ่งวางอยู่กลางถนน เด็กคนแรกเดินมาเห็น แล้วก็เดินผ่านไป เด็กคนที่ ๒ เดินมาเห็น ก็บ่นว่าใครเอามาวางไว้เนี้ย! แล้วก็เดินผ่านไป เด็กคนที่ ๓ เดินมาเห็น แล้วก็ไปพาเพื่อนๆ มาช่วยกันเคลื่อนหินก้อนนั้นออกไป ใครสันจรไปมา จะได้สะดวก”

คนมักแก้ไขปัญหาแบบนี้
๑. ปล่อยผ่าน ไม่สนใจ
๒. แสดงความคิดเห็น แต่ไม่ลงมือแก้ไขอะไรเลย
๓. ไม่บ่นอะไร แต่ลงมือแก้ไขทันที

เราจะต้องมีวิธีการที่จะชนะกิเลสในใจของเราเองให้ได้ เช่น เมื่อโมโห ก็ไปนอนเพื่อให้อารมณ์เย็นลง ค่อยมาทำอะไรต่อเป็นต้น
ในการจะทำงานด้วยกัน หลวงพ่อทัตตะได้แนะนำไว้ว่าจะต้อง “แนะให้ทำ นำให้ดู อยู่ให้เห็น” จึงจะได้ผลดี
ที่สำคัญเราจะทำงานกับคนหมู่มาก จำเป็นจะต้องเตรียมตัวรับกับจริตทั้ง ๖ ให้ได้ เพราะเขาอาจจะเป็นทีมของเราในภายหลังก็ได้... เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี สาราณิยธรรม ๖ ให้ตลอดเวลา

“สร้างบรรทัดฐานคนด้วยธรรมะ อย่าได้เอาจริตของตัวเราเป็นตัวตัดสิน ถ้ามีปัญหาก็ให้ใช้ธรรมะแก้ไข”