วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

“ความรู้พื้นฐานของผู้ทำสมาธิ” สรุปพระธรรมเทศนา วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม 2553

สิ่งที่สำคัญของนักปฏิบัติธรรมคือ “ความคิด”

คนทั่วไปชอบตั้งกำแพงไว้ก่อน ตั้งกำแพงใจว่าจะต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ ถ้าไม่ได้เป็นอย่างที่คิด แปลว่าไม่ใช่ ถ้าเรายังไม่เข้าใจตรงนี้ อย่างน้อย 10 ปี เราจะนั่งธรรมะไม่ไปไหนเลย!!!

การฝึกสมาธินั้นต้องใช้ใจเห็น แต่ปกติมนุษย์ใช้ตาเห็น... เวลาที่เราหลับตาแล้ว เราคิดว่าไม่เห็นอะไร อย่างนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเราติดว่าจะต้องเห็นชัดเหมือนที่เรามองเห็นด้วยตาของเรา และเราไม่คุ้นที่จะใช้ใจมอง... แต่ความเป็นจริงนั้น เราใช้ใจเห็นบ่อยๆ.. อย่างเช่นตอนฝัน

มาตรฐานการมองของตน กับมาตรฐานการเห็นของใจ จะเอามาเทียบกันไม่ได้... เราสามารถใช้ใจมองได้ชัดมากกว่าที่ตามมองเห็นได้หลายเท่านัก แต่การมองเห็นด้วยใจมันจะเริ่มจากน้อยๆ ก่อน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหมือนบ้านที่เราคุ้นเคย นึกครั้งใดก็ย่อมเห็นได้ชัดเจนในใจ

ถ้าเราไม่มั่นใจว่าการนึก คือ การเห็นด้วยใจแล้ว เราก็จะไม่ก้าวหน้า... เวลาที่เราหลับตาแล้วมืด คือการมองด้วยตา แต่ในขณะที่หลับตา ให้ใช้ความรู้สึก นึกถึงภาพองค์พระ แม้ไม่ชัด แม้ชั่วครู่ ก็จะถือว่าได้เห็นด้วยใจแล้ว

เราต้องมีความมั่นใจเสียก่อนว่า... “ถ้าเรานึกได้ ก็คือการเห็นด้วยใจแล้ว”

จะฝึกสมาธิ จะต้องรู้จักมองด้วยใจเสียก่อน แล้วค่อยๆ นึกให้ได้บ่อยๆ ต่อเนื่อง ก็จะเกิดความคุ้นเคยและนั่งธรรมะได้ดีขึ้น
การเห็น กับ การนึก คือสิ่งเดียวกัน ให้นึกว่าตัวเรากับองค์พระเป็น 1 เดียวกัน.. นึกเหมือนว่า 2 คนอยู่ในร่างเดียวกัน ต้องคิดแบบพระ พูดแบบพระ ทำแบบพระ องค์พระคือตัวเรา ตัวเราคือองค์พระ

การพูดคือการอธิษฐานจิต ดังนั้นเราต้อง คิดดี พูดดี ทำดี เพื่อให้จิตเราละเอียดยิ่งขึ้น สิ่งที่เราต้องหมั่นทำบ่อยๆ คือ การเอาใจไปตั้งไว้ ณ ที่ตั้งของใจ เหมือนโชเฟอร์ ที่จะต้องอยู่ในที่คนขับ รถจึงจะขับเคลื่อนไปได้
การนั่งธรรมะ หากตั้งใจมาก ก็เครียด ดังนั้นไม่ต้องตั้งใจมาก แต่ต้องตั้งใจมั่น แต่ถ้าหากในบางครั้งเราเกิดลืมที่จะวางใจ ณ ที่ตั้งของใจแล้ว ก็ให้ช่างมัน ตั้งใจทำปัจจุบันต่อไปไม่ต้องซีเรียส

พื้นฐานของนักปฏิบัติธรรมทุกคนต้องรู้ คือจะต้องยึดศูนย์กลางกายให้ได้ตลอดเวลา และใจเราจะค่อยๆ ละเอียด ถ้าเราไม่เอาใจจรดศูนย์กลางกาย คือ เราประมาทอยู่

“เป้าหมายชีวิต" สรุปจากพระธรรมเทศนา วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม 2553

ทุกคนเกิดมาล้วนมีผังชีวิตของตนเอง พระอาจารย์เองก็มีผังบวชมาก่อน เพราะตั้งแต่เป็นเด็กๆ ก็มีความคิดที่จะบวชอยู่แล้ว มีใจที่รักพระพุทธศาสนาเป็นทุนเดิม เข้าวัดพระธรรมการมาเพราะต้องการพิสูจน์ เพราะตอนนั้นกำลังแสวงหาที่เรียนภาวนาอยู่ และเพื่อนบอกว่าที่วัดพระธรรมการเป็นพุทธพาณิชย์ จึงมีความคิดที่จะพิสูจน์ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็จะเผาวัดเสียเลย

และด้วยความที่เป็นคนที่มีความสงสัยมาตั้งแต่เด็กแล้วว่า “คนเราเกิดมาทำไม?” เพราะคิดว่าคนเราถ้าจะทำอะไรก็จำเป็นที่จะต้องรู้วัตถุประสงค์เสียก่อน ซึ่งพอมาวัดพระธรรมการครั้งแรกก็เจอกับข้อความว่า “เราเกิดมาเพื่อสร้างบารมี” แต่ก็ยังไม่เข้าใจเท่าไหร่ แต่ข้อความที่รู้สึกสะดุดใจมากๆ คือ “ธรรมกายคือเป้าหมายชีวิต” ก็เลยมีความต้องการจะรู้ให้ได้ว่าใครเป็นคนพูดคำนี้ ทำไมถึงกล้าที่จะให้คำจำกัดความของเป้าหมายชีวิตของมนุษย์ได้ว่าคือ “ธรรมกาย” ซึ่งก็ได้ตั้งใจไว้ว่า ถ้าไม่รู้จักคำนี้ดีพอ ไม่ได้พิสูจน์ ก็จะไม่ออกจากวัด....


เข้ามาก็ได้บวชในโครงการอบรมธรรมทายาทภาคฤดูร้อน ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ซึ่งรู้สึกว่าเป็น 2 เดือนที่มีคุณค่ากับชีวิตมากกว่า 20 ปี ที่ใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกเสียอีก เมื่อจบโครงการก็จึงได้อยู่ศึกษาธรรมะกับหลวงพ่อต่อมาอีก จนได้เข้ามาช่วยงานในวัดมากมาย ทั้งการไปเผยแพร่ธรรมะ เป็นรุ่นบุกเบิกในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็ต้องบอกว่างานของวัดพระธรรมการนั้น เอางานเป็นเป้าหมาย แล้วค่อยหาทุนทำ ซึ่งแตกต่างจากทางโลกที่จะต้องตั้งงบก่อนแล้วค่อยทำงาน ซึ่งก็เป็นการทำงานที่ยากมากๆ แต่ก็ทำอย่างทุมเท เต็มที่ เต็มกำลัง จนสำเร็จ

ด้วยบุญที่ทุมเทเอาชีวิตเป็นเดิมพัน พอบุญส่งผล มันก็มาเร็ว มาแรง เหมือนรถที่วิ่งได้รอบ ทำอะไรต้องทำแบบสุดๆ อย่ายั้ง แล้วพอเวลาที่เรานั่งธรรมะ พอหลวงพอบอกว่าให้ทุ่มลงในกลาง เราจะเข้าใจ ถ้าเราเคยทุมในงานหยาบมาแล้ว ถ้านั่งอย่างเดียว ไม่มีบุญหยาบช่วย ก็ไปไม่ถึงไหน งานหยาบก็ต้องละเอียดด้วย งานละเอียดจึงจะละเอียดได้